คุณยังไม่มีสินค้าในรถเข็น
สปริงเกอร์แบบต่างๆ มีกี่แบบ แบบไหน ต่างกันยังไง ?
ในปัจจุบันนี้เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่าสปริงเกอร์รดน้ำต้นไม้นั้น เป็นที่นิยมและได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำการเกตรเป็นอย่างมาก ด้วยระบบการบีบอัดน้ำที่หมุนเหวี่ยงโดยรอบ ทำให้น้ำกระจายเป็นวงกว้าง จึงช่วยทุนแรงและประหยัดเวลาในการรดน้ำให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้สปริงเกอร์รดน้ำแต่ละแบบก็มีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป เชื่อว่ายังคงมีเกษตรกรและใครอีกหลายๆคน ที่ยังประสบปัญหาในการเลือกซื้อสปริงเกอร์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน วันนี้เกษตรโนเวท (Kasetnovate) จะมาแนะนำให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสปริงเกอร์รดน้ำแต่ละแบบ แบบไหน ต่างกันยังไงเพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อและติดตั้งกัน
ข้อควรรู้ก่อนติดตั้งสปริงเกอร์
1. พื้นที่ในการวางสปริงเกอร์
ก่อนที่จะเลือกซื้อสปริงเกอร์ สิ่งสำคัญคือ การคำนวณพื้นที่และออกแบบระบบน้ำที่จะใช้ในการติดตั้งเสมอ ว่ามีพื้นที่ทั้งหมดกี่ตารางเมตร กี่ไร่ ท่อเมน (ท่อหลัก) และ ท่อแยก อยู่ตรงไหน ขนาดเท่าไร เพื่อจะได้คำนวณจำนวนหัวสปริงเกอร์ที่ต้องใช้ได้ถูกต้อง
2. การใช้งานหัวสปริงเกอร์
ควรเลือกหัวให้เหมาะสมกับชนิดของพืชที่ปลูกและพื้นที่ เพราะหัวสปริงเกอร์แต่ละแบบมีลักษณะการกระจายน้ำและปริมาณการให้น้ำที่แตกต่างกันออกไป
3. ขนาดของปั๊มน้ำ
ควรคำนึงถึงกำลังปั๊ม(แรงม้า) และ ขนาดท่อน้ำเข้า-ออกที่สามารถจ่ายและส่งน้ำได้ไกลเพียงพอกับจำนวนหัวสปริงเกอร์ที่ติดตั้ง หากปั๊มน้ำมีแรงดันหรือปริมาณน้ำไม่เพียงพอจะส่งผลให้ระยะกระจายน้ำของหัวสปริงเกอร์ลดลง
หัวสปริงเกอร์รดน้ำมีกี่แบบ ?
อย่างที่เห็นโดยทั่วไปสปริงเกอร์รดน้ำมีหลากหลายรูปแบบ แบ่งตามลักษณะการจ่ายน้ำและการติดตั้งที่ไม่เหมือนกันตามนี้
สปริงเกอร์รดน้ำต้นไม้ : แบ่งตามลักษณะการจ่ายน้ำ
1. สปริงเกอร์รดน้ำแบบ น้ำหยด (Drip)
สปริงเกอร์รดน้ำรูปแบบนี้จะมีลักษณะการให้น้ำเป็นหยด ซึ่งมีอัตราการให้น้ำน้อย อยู่ที่ประมาณ 2-8 ลิตร/ชม. แรงดันน้ำ 0.5-1 บาร์ สปริงเกอร์แบบน้ำหยดเหมาะสำหรับพืชที่ต้องการน้ำน้อย หรือ พื้นที่ขาดแคลนน้ำรวมถึงพืชอายุสั้น (พืชไร่ พืชผัก ไม้กระถาง) แต่ไม่เหมาะกับการใช้งานกับพืชยืนต้น เนื่องจากต้องใช้ปริมาณหัวสปริงเกอร์รดน้ำจำนวนมาก หลายจุดต่อต้น ทำให้เกิดความยุ่งยากในการต่อ ปัญหาในการดูแลจัดการ (เช่น ต้องการระบบกรองน้ำที่ละเอียดซับซ้อน) รวมถึงปัญหาในเรื่องของการอุดตัน
2. สปริงเกอร์รดน้ำแบบ ละอองหมอก (Fogger)
สปริงเกอร์ ละอองหมอก หรือที่นิยมเรียกกันว่า หัวพ่นหมอก จะมีลักษณะการให้น้ำเป็นฝอยละอองขนาดเล็กมาก ฟุ้งกระจาย คลุมพื้นที่ประมาณ 0.8-2 เมตร โดยมีอัตราการให้น้ำอยู่ที่ประมาณ 7- 25 ลิตร/ชม. แรงดัน 2-4 บาร์ สปริงเกอร์รดน้ำชนิดนี้ส่วนมากจะเหมาะสำหรับติดตั้งในระบบโรงเรือน เพื่อให้ความชื้นในพื้นที่ลมสงบ
3. สปริงเกอร์รดน้ำแบบ พ่นฝอยหรือเจ๊ทสเปรย์ (Mist / Jet Spray)
ลักษณะการกระจายเป็นละอองขนาดเล็ก เป็นเส้น หรือ อาจจะผสมกันทั้งสองแบบ อัตราการจ่ายน้ำอยู่ที่ประมาณ 40-200 ลิตร แรงดันน้ำ 1-1.5 บาร์ รัศมีการให้น้ำอยู่ประมาณอยู่ที่ 1-1.5 เมตร เหมาะกับการใช้งานในบริเวณที่แคบหรือต้องการรัศมีการกระจายจายน้ำน้อย เช่น ไม้ดอก พุ่มเล็กๆ สวนในบ้าน ไม้ยืนต้นที่มีระยะชิด
4. สปริงเกอร์รดน้ำแบบ มินิสปริงเกอร์ (Mini Sprinkler)
มินิสปริงเกอร์นั้นจะมีลักษณะการกระจายน้ำที่หลากหลายตั้งแต่ ละอองขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ รัศมีการให้น้ำอยู่ที่ประมาณ 1-4 เมตร แรงดันน้ำประมาณ 1.5-2 บาร์ ในที่นี้จะขอแบ่งมินิสปริงเกอร์เป็นทั้งหมด 2 กลุ่มตามอัตราการจ่ายน้ำดังนี้
4.1 มินิสปริงเกอร์รดน้ำชนิด กระจายน้ำน้อย
อัตราการจ่ายน้ำจะอยู่ที่ 35-300 ลิตร/ชม. ลักษณะการกระจายน้ำจะมีทั้งแบบแคบ (หัวฉีดแบบแป้นปะทะสำหรับต้นไม้ปลูกระยะประชิด พุ่มเล็ก) และแบบไกล (หัวฉีดแบบใบพัดเหวี่ยงสำหรับต้นไม้พุ่มใหญ่ คลุมพื้นที่บริเวณกว้าง) โดยส่วนมากมินิสปริงเกอร์รดน้ำแบบนี้เหมาะสำหรับให้น้ำใต้ต้นพืชหรือในบริเวณพื้นที่ที่ลมไม่แรงและต้องการประหยัดน้ำ
4.2 มินิสปริงเกอร์รดน้ำชนิด กระจายน้ำมาก
อัตราการจ่ายน้ำจะอยู่ที่ 400 -1,000 ลิตร/ชม ลักษณะการให้น้ำมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบพุ่งกระจาย หมุนเป็นเกลียวออก 2 ด้าน หรือแบบเป็นเม็ดฝอยขนาดใหญ่รอบทิศทาง เหมาะสำหรับการให้น้ำเหนือต้นพืช ซึ่งมินิสปริงเกอร์รดน้ำแบบนี้ นิยมใช้กันมากเนื่องจาก การให้น้ำที่รวดเร็วและลดปัญหาการอุดตัน แต่จะเปลืองน้ำมากเช่นกัน
สปริงเกอร์รดน้ำต้นไม้ : แบ่งตามการติดตั้ง
1. ติดตั้งแบบ หัวฝังอยู่ใต้ดิน (Underground)
การติดตั้งรูปแบบนี้ตัวสปริงเกอร์จะถูกฝังอยู่ใต้ดิน หัวสปริงเกอร์จะโผล่ออกมาเฉพาะเวลาทำงาน คนทั่วไปจึงนิยมเรียกรูปแบบการติดตั้งหัวสปริงเกอร์ชนิดนี้ว่า หัวป๊อปอัพ (pop up ซึ่งวิธีการติดตั้งหัวสปริงเกอร์รูปแบบนี้เหมาะสำหรับงานจัดสวน สนามกอล์ฟ สนามฟุตบอล โดยจะติดตั้งซ่อนไว้บริเวณสนามหญ้าหรือพื้นที่โล่งเพื่อความสวยงาม
2. ติดตั้งแบบ อยู่เหนือดิน (Aboveground)
การติดตั้งสปริงเกอร์รูปแบบนี้ คือ การติดตั้งสปริงเกอร์แบบอยู่เหนือดิน สวมต่อกับท่อ พีอี (PE) หรือ พีวีซี (PVC) ได้โดยตรง ซึ่งเป็นวิธีการติดตั้งรูปแบบทั่วไปที่นิยมใช้ในการเกษตร ปลูกผัก พืชไร พืชสวน เนื่องจากจะมีวิธีการติดตั้งที่ง่ายกว่ารูปแบบฝังลงดิน
สรุป การเลือกใช้สปริงเกอร์แบบต่างๆ
จะเห็นได้ว่าสปริงเกอร์แต่ละแบบมีลักษณะการติดตั้งและการใช้งานที่แตกต่างกัยออกไป ดังนั้นทุกครั้งที่จะทำการวางระบบสปริงเกอร์ควรทำความเข้าใจและวางแผนให้ดีก่อนลงมือทำเพื่อให้สปริงเกอร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและอยู่ภายใต้งบประมาณที่กำหนด
เรียบเรียง : Kasetnovate (เกษตรโนเวท)
อ้างอิงจาก : บ้านและสวน , เกษตรก้าวหน้า , การออกแบบระบบให้น้ำ โดย วิทยา ตั้งก่อสกุล และ นาวี จิระชีวี